สมุนไพรไทย ตัวช่วย ต้าน โควิด
แชร์:
facebook_share
line_share
twitter_share messenger_share

สมุนไพรไทย ตัวช่วย ต้าน โควิด


ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยต่อยอด สมุนไพรไทย จนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ยิ่งในช่วงสถานการณ์ โควิด สมุนไพร ไทยนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้บรรเทาอาการเบื้องต้นของไข้หวัดได้

 

     สมุนไพรไทย นั้นเป็นจุดแข็งของประเทศไทย มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน และเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น เราจึงขอแนะนำ สมุนไพร พื้นบ้านที่เป็นประโยชน์ และแนะนำให้ใช้ 5 ชนิด ดังต่อไปนี้

     สมุนไพรไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีสรรพคุณในการรักษาโรค และอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร ทำเครื่องสำอาง และยาทางการแพทย์ วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ สมุนไพรไทย ใกล้ตัว

     เริ่มจาก “ฟ้าทะลายโจร” มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้อักเสบ แก้เจ็บคอ เป็นสมุนไพรพื้นบ้านรสขมที่นิยมนำมาใช้รักษาหวัดตั้งแต่โบราณ ซึ่งประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลากชนิด เช่น ไดเทอร์ปีนอยด์ ( Diterpenoids ) ฟลาโวนอยด์ ( Flavonoids ) และโพลีฟีนอล ( Polyphenols ) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และการติดเชื้อ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบรรเทาอาการหวัดได้

     อย่างไรก็ดี ที่มีการแชร์ข่าว ฟ้าทะลายโจร ป้องกันติด โควิด บนโลกออนไลน์ กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ยืนยันว่า ฟ้าทะลายโจร ได้รับการยอมรับ และใช้รักษาควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ผ่านมา ได้ศึกษาวิจัยผลของยาสารสกัด ฟ้าทะลายโจร ขนาดสูง มีสารแอนโดรกราโฟไลต์ ( Andrographolidel ) ในผู้ป่วย โควิด อาการไม่หนัก จำนวน 309 ราย พบ สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส ลดความรุนแรงของโรคได้  แต่ไม่สามารถป้องกัน โควิด ได้  

     อีกหนึ่งสมุนไพรไทยที่ฮอตมากตอนนี้ “กระชายขาว” ได้รับการยืนยันว่า “สารสกัดกระชายขาว” เป็นตัวช่วยหนึ่งที่มีฤทธิ์ต่อต้านโรค โควิด ทำให้เชื้อไวรัสไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อเชื้อไม่ขยายตัว เม็ดโลหิตขาว ซึ่งมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้นกัน สามารถสร้างภูมิขึ้นมาคุ้มกันได้มากพอฆ่าเชื้อโรคได้ โดยในหลอดทดลอง นักวิจัย ม.มหิดล เร่งพัฒนาสารสกัดกระชายขาวเพื่อใช้เป็นยาสำหรับโรคโควิด คาดว่า ใช้เวลา 1 ปี วิจัย และพัฒนาให้สำเร็จ โดยโครงการวิจัยต้านเชื้อไวรัสโคโรนาจาก สมุนไพรไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ( องค์การมหาชน ) หรือ TCELS แน่นอนว่า เมื่อมีข่าวเผยแพร่ออกมา ทำให้มีการนำกระชายขาวมาทำเป็นน้ำกระชายดื่ม และจำหน่ายทั่วไป เป็นความหวังช่วยป้องกันโรคระบาด

     ยังมีสมุนไพรอีกหลายตัวอย่าง “พลูคาว” มีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น พลูคาว ผักคาวตอง ผักก้านตอง พบมากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน  คนเหนือ และอีสานใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือกินกับลาบอย่างเอร็ดอร่อย ข้อมูลจากสถาบันวิจัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า พลูคาวสามารถรักษาภาวะภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ การแพ้อาหาร ทั้งยังรักษาภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ช่วยเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายด้วย นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยสนับสนุนมีฤทธิ์ทำลาย และยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอดส์ เริม และไวรัสก่อโรคมือเท้าปากเปื่อย ปัจจุบันจีนใช้พลูคาวเป็นส่วนผสมตำรับยารักษาโรคที่เกิดจากไวรัส และจดสิทธิบัตรไว้หลายรายการ

      สมุนไพรพื้นบ้าน “ขมิ้นชัน” มีทุกบ้าน คนไทยนิยมใช้ในชีวิตประจำวัน ในครัว เพื่อเพิ่มสีสัน แต่งกลิ่น และรสชาติของอาหาร รวมถึงใช้เป็นเครื่องสำอาง  คุณประโยชน์มากมายที่แฝงอยู่ในขมิ้นชัน จนยกเป็นขุมทรัพย์แห่งเอเชีย ผลงานวิจัยพบว่า เคอร์คูมินอยด์ ( curcuminoids ) ในขมิ้นชันสามารถช่วยต้านอาการอักเสบ บรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านเชื้อแบคทีเรียไวรัสได้ดี

      ส่วน "กระเทียม" ซึ่งหาซื้อได้ง่าย ไทยมีภูมิปัญญาพื้นบ้าน ใช้พืชนี้รักษาหวัดมายาวนาน ด้วยคุณสมบัติต้านเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังอุดมด้วยสารชีวภาพหลากชนิด เช่น อาร์จีนีน ( Arginine ) โอลิโกแซ็คคาไรด์( Oligosaccharides ) ฟลาโวนอยด์ ( Flavoniod s) ซีลีเนียม ( Selenium ) และอัลลิซิน ( Allicin ) การใช้กระเทียมช่วยรักษาอาการเจ็บคอ มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ส่วนใหญ่นำกระเทียมมาปอกเปลือกสับให้ละเอียด แล้วรับประทานแบบสด ๆ อย่างไรก็ตาม กินกระเทียมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปากเหม็น มีกลิ่นตัว แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง

      มาที่ "หอมแดง" มีสรรพคุณช่วยให้หายใจสะดวก และโล่งขึ้น เป็นสมุนไพรที่ผู้เฒ่าผู้แก่นิยมนำมาทุบให้แตกแล้ววางไว้ใกล้ ๆ ศีรษะ เพื่อให้เด็กสูดดมตามความเชื่อว่า ช่วยรักษาหวัดได้ ทางวิทยาศาสตร์หอมแดงมีสารประกอบกลุ่มออร์กาโนซัลเฟอร์ ( Organosulfur ) เช่น ไดแอลลิลไดซัลไฟด์ ( Diallyl Disulphide ) ไดแอลลิลไตรซัลไฟด์ ( Diallyl Trisulfide ) เอสอัลลิลซิสเทอีน ( S-Allyl Cysteine ) และอัลลิซิน ( Allicin ) มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และช่วยรักษาโรคหวัดจากเชื้อไวรัสได้

      "ขิง" มีสรรพคุณแก้ไอ และขับเสมหะ มีการทดลองพบว่า ขิงแก่ต้มน้ำเดือดนาน 30 นาที ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาส จับกินไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดีขึ้น แนะนำการทำง่าย ๆ เอาขิงแก่มาหั่นให้เป็นแว่น ตำและคั้นเอาน้ำ หรือนำมาต้มกับน้ำเปล่า 1 ลิตร โดยต้มประมาณ 5 นาที แล้วตักเอาขิงออก เอาแต่น้ำขิงมาดื่มขณะอุ่น ๆ โดยดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน และเย็น น้ำขิงจะช่วยลดน้ำมูกลงได้ หรือจะนำมาผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย เพิ่มรสชาตการดื่ม

      จากขิงมาที่ "ตะไคร้" สมุนไพรไทย ในจานอร่อยของไทย คนน้อยมากที่รู้ว่า สามารถใช้รักษาหวัด หวัดใหญ่ แก้ไข้ แก้ปวดหัว ปวดท้อง เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันได้ดีเยี่ยม ช่วยต้านอนุมูลอิสระ แก้อักเสบ และต้านไวรัสไข้หวัด เพียงแค่บุบต้นตะไคร้ 3-4 ต้นให้แตก นำมาต้มกับน้ำเปล่า 1 ลิตรให้เดือด แล้วยกลง รินเอาแต่น้ำมาจิบบ่อย ๆ ตลอดวัน  ตะไคร้แก้คัดจมูกที่ได้ผลดี ช่วยแก้อาการน้ำมูกไหลจากหวัด

 

      นับว่า “สมุนไพรไทย” ผลิตผลจากธรรมชาติที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองคนไทย มีสรรพคุณเป็นประโยชน์ สามารถนำมาปรับใช้ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเราให้แข็งแรง แต่ต้องไม่ลืมว่า สมุนไพรแต่ละชนิด นอกจากจะมีผลดีต่อสุขภาพแล้ว บางชนิดมีข้อจำกัดในการใช้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องศึกษาอย่างละเอียดหรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วย

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

อันตรายที่เกิดขึ้นได้ หากกิน ฟ้าทะลายโจร

ล้วงลึกถึง ฟ้าทะลายโจร


แท็ก :


บทความที่น่าสนใจ

สอบถามเพิ่มเติม คลิก

payment
แจ้งชำระเงิน คลิก